ขุนนิพัทธ์ ผู้สร้างเมืองหาดใหญ่

ขุนนิพัทธ์จีนนคร ผู้สร้างเมืองหาดใหญ่

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านได้สร้างห้องแถวหลังคามุงจาก บริเวณมุมสี่แยกถนนธรรมนูญวิถี ถ่ายจากสถานนีรถไฟหาดใหญ่ไปยังเขาคอหงส์ ซึ่งปัจจุบันบริเวณแถบนี้ เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง ห้างสรรพสินค้าทั้งสองฟากฝั่งขุนนิพัทธ์จีนนคร ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกสร้างเมืองหาดใหญ่คนแรก หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ท่านได้มาพักอาศัยอยู่ที่ริมคลองอู่ตะเภา ข้างที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ แถบสถานีรถไฟอู่ตะเภานี้มีสภาพเป็นลุ่มน้ำท่วมเป็นประจำ ท่านเล็งเห็นว่าไม่เหมาะกับการตั้งสถานีและบ้านเรือนจึงได้ออกสำรวจหาแหล่งพื้นที่ที่เหมาะสม สำหรับการปลูกบ้านเรือนอยู่อย่างถาวรต่อไป ซึ่งก็พบป่าเสม็ดแห่งหนึ่งมีผู้อาศัยอยู่บ้างประปราย “บ้านโคกเสม็ดชุน” อยู่ห่างจากที่ตั้งสถานีรถไฟอู่ตะเภาประมาณ ๓ กิโลเมตร ขุนนิพัทธ์ฯ จึงได้เริ่มซื้อขายต้นเสม็ดรายแรกเป็นจำนวน ๕๐ ไร่ เป็นเงิน ๑๗๕ บาท จากชาวบ้านผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณนั้น โดยผ่านนายหน้าช่วยติดต่อซื้อขาย คือ ผู้ใหญ่บ้านหนูเปียก จันทร์ประทีป และผู้ใหญ่บ้านพรหมแก้ว คชรัตน์ ซึ่งเป็นอดีตผู้ใหญ่โคกเสม็ดชุนแต่อาศัยอยู่ในละแวกบ้านหาดใหญ่ หลังจากที่ขุนนิพัทธ์ฯ ได้ซื้อที่ป่าต้นเสม็ดแล้ว ทางการได้ขอซื้อที่ดินส่วนหนึ่งต่อในราวปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เพื่อทำเป็นย่านรถไฟ ได้ขอซื้อที่ถัดจากแนวทางรถไฟที่มีอยู่ก่อนแล้ว เริ่มจากด้านหลังของสถานที่หยุดรถไฟชั่วคราว “โคกเสม็ดชุน” หรือสถานีรถไฟหาดใหญ่ในปัจจุบัน กินเนื้อที่เป็นบริเวณกว้างตลอดริมถนนธรรมนูญวิถีทั้งสองฟาก (หรือถนนเจียกีซีในสมัยนั้น) จรดสี่แยกถนนธรรมนูญวิถีติดกับถนนนิพัทธ์อุทิศ ๑


      ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ขุนนิพัทธ์ฯ ก็ได้โค่นต้นเสม็ดเพื่อปราบพื้นที่ให้กว้างใหญ่ไว้สร้างห้องแถวให้กับครอบครัวพร้อมเพื่อนบ้าน เริ่มด้วยการสร้างห้องแถวหลังคามุงจาก จำนวน ๕ ห้อง ต่อจากเขตย่านรถไฟ (ปัจจุบันคือที่ตั้งของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด) ก่อนจะสร้างห้องแถว ขุนนิพัทธ์ฯ ได้วางผังเมืองไว้อย่างมีระเบียบ โดยการตัดถนนดินแดงขึ้นสายแรกอยู่ด้านหลังของสถานีรถไฟ ถนนสายนี้แรกว่า “ถนนเจียกีซี” พร้อมกันนั้นขุนพัทธ์ฯ ก็ได้ตัดถนนขึ้นอีก ๓ สาย คือ ถนนเจียกีซี ๑, เจียกีซี ๒, และเจียกีซี ๓ ตัดผ่านถนนเจียกีซีมีลักษณะเป็นตารางหมากรุก ต่อมา ถนนเจียกีเซีย ได้เปลี่ยนเป็นถนนธรรมนูญวิถี ถนนเจียซีกี ๑, ๒ และ ๓ ได้เปลี่ยนเป็นถนนนิพัทธ์อุทิศ ๑, ถนนนิพัทธ์อุทิศ ๒ , ถนนนิพัทธ์อุทิศ ๓  ซึ่งชื่อ “นิพัทธ์” นี้เป็นชื่อราชทินนามของขุนนิพัทธ์จีนนคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา-ประชาธิปก มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ การวางผังนี้ท่านได้ความคิดจากเมืองสุไหงปัตตานี ประเทศมลายู เนื่องจากสภาพเมืองสุไหงปัตตานีมีลักษณะคล้ายกับสภาพพื้นที่ที่ได้จับจองไว้ ห้องแถวจำนวน ๕ ห้อง โดยที่ห้องแรกสร้างด้วยเสาไม้กลมตัวบ้านฝาขัดแตะหลังคามุงจาก ห้องที่ ๒  เพื่อนของท่านได้เช่าทำโรงแรมมีชื่อว่า “โรงแรมเคี่ยนไท้” และ “โรงแรมยี่กี่” ส่วน ๓ห้องสุดท้ายนั้น ท่านใช้เป็นที่พักอาศัยและขายของชำ ในระหว่างที่ท่านและครอบครัวพร้อมทั้งเพื่อนบ้าน ได้ย้ายมาอยู่ที่ห้องแถวสร้างใหม่นั้น ก็ยังคงมีการติดต่อกับชาวมลายูเสมอ แต่บริเวณที่ตนพักอาศัยนี้เคยเป็นป่าต้นเสม็ดไม่มีชื่อเรียกเป็นทางการ เพื่อเป็นการสะดวกในการติดต่อจดหมายกับชาวต่างประเทศ ท่านจึงได้ใช้ชื่อว่า “บ้านหาดใหญ่” ซึ่งเป็นชื่อละแวกบ้านใกล้เคียงเป็นสถานที่ติดต่อส่งจดหมายมายังจุดหมายปลายทาง ที่ปรากฏว่าลงได้ถูกต้อง หลังจากที่ทางการได้ซื้อที่ดินจากขุนนิพัทธ์ฯ ไว้บริเวณย่านรถไฟแล้ว อีก ๓ ปีต่อมา (ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๖๐– ๒๔๖๑) ได้มีการเปลี่ยนป้ายสถานีโคกเสม็ดชุนมาเป็นสถานีรถไฟหาดใหญ่ แต่ก่อนจะมีการเปลี่ยนชื่อป้ายของสถานีรถไฟใหม่นี้ ข้าราชการหลายท่านพร้อมทั้งปลัดเทศาภิบาล นายไปรษณีย์ ได้เชิญท่านไปปรึกษาหารือเกี่ยวกับการตั้งชื่อสถานีรถไฟ ท่านก็ได้ชี้แจงในที่ประชุมถึงการที่ตนเองมีการติดต่อจดหมายกับชาวมลายู และใช้ชื่อ “หาดใหญ่” เป็นสถานที่ติดต่อ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบด้วยกับการใช้ชื่อนี้จึงเสนอให้ใช้ชื่อ “สถานีหาดใหญ่” 


       ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้มีการทำพิธีฉลองเปิดสถานีหาดใหญ่และตลาดหาดใหญ่ที่ท่านเป็นผู้เริ่มก่อตั้งและวางผังเมืองเอง ซึ่งในสมัยนั้นมีบ้านเรือนในตลาดหาดใหญ่กว่า ๑๐๐ หลังคาเรือนแล้ว ตลาดหาดใหญ่ได้เริ่มเป็นศูนย์กลางธุรกิจ มีการทำการค้ากับชาวมลายูมากขึ้นเมื่อวันที่ ๒-๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ท้องที่ตลาดหาดใหญ่ได้ถูกยกฐานะให้เป็นสุขาภิบาล ท่านขุนนิพัทธ์ฯ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสุขาภิบาลด้วย ต่อมาเมื่อ ๗ ธันวาคม ๒๔๗๘ ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลหาดใหญ่ และเมื่อ ๑๖ มีนาคม ๒๔๙๒ ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองหาดใหญ่ ก่อนที่ถูกยกเป็นเทศบาลนครหาดใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ในราวปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ท่านได้ย้ายครอบครัวจากห้องแถวริมถนนเจียกีซี หรือถนนธรรมนูญวิถีในปัจจุบัน ไปอยู่ที่ฝั่งถนนเพชรเกษม แต่ท่านก็มิได้หยุดพัฒนาเมือง ช่วงสงครามเอเชียบูรพา ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นมาถึงหาดใหญ่ พร้อมกับขอใช้บ้านท่านเป็นฐานบัญชาการย่อย แต่ท่านไม่ยอมยกให้พร้อมกับต่อรองให้ใช้บ้านฝั่งตรงกันข้าม (อาคารสยาม-นครินทร์ในปัจจุบัน) ซึ่งนายทหารญี่ปุ่นก็ยินยอมเพราะต้องการมวลชนผู้ใหญ่ในท้องถิ่นเป็นแกนหลักในการประสานกับประชาชน และหลังจากทราบเจตนารมณ์ของญี่ปุ่นแล้วว่า ต้องการเอาหาดใหญ่เป็นเพียงทางผ่าน ท่านจึงได้เข้าประชุมร่วมกับหน่วยงานราชการ เพื่อแจ้งให้ประชาชนที่ตกใจหลบหนี กลับมาประกอบอาชีพตามปกติ ซึ่งประชาชนก็กลับมาแต่เศรษฐกิจหาดใหญ่ขณะนั้นแทบจะหยุดชะงักหมด เพราะผลของสงครามขณะที่ญี่ปุ่นได้ทยอยเข้ามาหาดใหญ่จำนวนมากหลายกองพัน โดยมาพักก่อนที่จะผ่านไปมาลายู พร้อมทั้งลำเลียงอาวุธหนักมาทางรถไฟ และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เครื่องบินรบของสหประชาชาติได้บินมาทิ้งระเบิดสถานีรถไฟหาดใหญ่ สร้างความเสียหายให้กับอาวุธ และเสบียงของญี่ปุ่น ที่จะลำเลียงให้มาลายูจำนวนมาก แต่ที่เสียหายมากสุดคือ การทิ้งระเบิดที่สงขลาที่ทำให้ประชาชนถูกลูกหลงตายจำนวนมาก เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นช่วงที่วิกฤติที่สุดทุกคนในหาดใหญ่เหมือนถูกตัดขาด จากโลกภายนอก เพราะการติดต่อระหว่างจังหวัดก็ไม่สามารถทำได้ชาวบ้านส่วนใหญ่ ก็อาศัยชาวบ้านรอบนอก นำผักปลาอาหารมาขายดำรงชีพไปวัน ๆ ซึ่งดำเนินอยู่กระทั่งสงครามสงบสิ้น ในระหว่างที่ท่านและครอบครัวได้ย้ายมาอยู่ที่ห้องแถวสร้างใหม่นั้นได้ทำธุรกิจหลายอย่างกับชาวต่างชาติ อาทิ ธุรกิจโรงแรม บริษัทเหมืองแร่ ซื้อขายแร่และยางพารา มีความจำเป็นต้องติดต่อกับชาวต่างประเทศ และต้องมีชื่อสถานที่ติดต่ออย่างเป็นทางการ จึงได้ใช้ชื่อว่า “บ้านหาดใหญ่” สำหรับการติดต่อทางไปรษณีย์


       ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้มีการเปิดสถานีรถไฟหาดใหญ่ และตลาดหาดใหญ่ ต่อมาตลาดหาดใหญ่ได้ยกฐานะเป็นสุขาภิบาล ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสุขาภิบาลด้วย ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ พระบาทสมเด็จฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ได้เสด็จประพาสหัวเมืองภาคใต้ ได้ทรงพิจารณาถึงคุณงามความดีและกิตติศัพท์ในการพัฒนาตนเองและตลาดหาดใหญ่ จึงมีพระบรมโองการโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็น “ขุนนิพัทธ์จีนนคร” และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้น ๓ แก่ขุนนิพัทธ์จีนนคร และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเข็มอีก ๓๐ ชนิด ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ในระหว่างนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ บ้านเมืองขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง บริษัทนิพัทธ์และบุตร ที่เป็นบริษัทของท่านได้คิดค้นวิธีการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงจากยางพารา โดยผลิตได้เดือนละ ๗๐,๒๘๐ ปีบ จำหน่ายราคาลิตรละ ๑-๒ บาท ใช้กันทั้งที่หาดใหญ่ สงขลา และประเทศเพื่อนบ้าน แต่คุณภาพยังไม่ดีเท่าที่ควร จึงเลิกผลิต ท่านได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยจากกระทรวงการต่างประเทศ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ และได้รับอนุญาตให้ใช้ราชทินนามเป็นชื่อตัว คือ “นิพัทธ์” จากกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ และได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนนามสกุล “จิระนคร” จากกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗  ท่านขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) ได้บริจาคทรัพย์และที่ดินให้กับหน่วยงานและสมาคมต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และได้วางมือทางธุรกิจให้กับทายาทในปี พ.ศ.  ๒๔๙๗